วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

ฟองน้ำโมเลกุล

นักวิทย์ออสซีคิดค้น "ฟองน้ำโมเลกุล" มีรูพรุนนับไม่ถ้วน ทนทานแข็งแรงต่อภาวะร้อนชื้อ หวังใช้ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่โรงงานต้นตอ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อน



      
       ทีมนักวิจัยทางด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (Sydney University) ได้คิดค้นสารผลึกที่เต็มไปด้วยรูพรุนขนาดเล็กๆ จำนวนมากที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เอาภายในได้คล้ายกับฟองน้ำที่ดูดซับน้ำเอาไว้ ซึ่งนักวิจัยเรียกวัตถุที่คิดค้นขึ้นว่า "ฟองน้ำโมเลกุล" (molecular sponges) และหวังว่าจะนำสารผลึกนี้ไปวางไว้ในสถานที่ที่มีก๊าซดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงไฟฟ้า เป็นต้น
      
       "คุณอาจจะคิดถึงสิ่งนี้ว่าคล้ายกับฟองน้ำสำหรับล้างจานในครัวได้นิดหน่อย แต่ว่าโครงสร้างทางเคมีของมันนั้นเต็มไปด้วยโพรงเล็กๆ จำนวนมากมายที่เมื่อรวมกันแล้วยังมากกว่าพื้นที่ผิวที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีกเมื่อดูจากขนาดของมัน" เดียนนา เดอเลสซานโดร (Deanna D'Alessandro) หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยผ่านสื่อวิทยุของเอบีซี
      
       "ฉะนั้นหากคุณคิดถึงพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ภายในโพรงเล็กๆ ของฟองน้ำนี้นั้น มันมากมายอย่างเหลือเชื่อมาก และหากคุณลองตักวัสดุที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ในตอนนี้มาสัก 1 ช้อนชา พื้นที่ผิวของวัสดุนี้ที่อยู่ในช้อนชาเดียวรวมกันได้เท่ากับสนามรักบี้ 1 สนามเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างมาก" เธอกล่าว
      
       เดอเลสซานโดร บอกอีกว่า ฟองน้ำที่ทีมวิจัยกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้นทำขึ้นจากวัสดุที่เป็นสารประกอบของโหละและสารอินทรีย์ที่มีรูพรุนสูง (metal-organic framework) มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าวัสดุคล้ายกันที่เคยมีการคิดค้นมาก่อนหน้านี้มาก และสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงมากๆ ในโรงไฟฟ้าได้ ทนต่อสภาวะที่ร้อนชื้นบริเวณปากปล่องควันของโรงไฟฟ้าได้ดี ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ฟองน้ำชุ่มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นสามารถย้อนกลับได้ ซึ่งยอมปล่อยก๊าซที่ถูกดูดซับเอาไว้ออกมาเมื่อมีสภาวะเหมาะสม
      
       อย่างไรก็ดี เอเอฟพีระบุว่าในตอนนี้ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังไม่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะนำไปใช้ได้จริงในอีกไม่ช้าไม่นาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น