วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

เครื่องตรวจไวรัสกุ้ง

เนคเทคร่วมมือไบโอเทคพัฒนาเครื่องตรวจไวรัสกุ้ง ใช้เทคนิควัดด้วยแสงให้ผลแม่นยำมากกว่ามองด้วยตา เหมาะแก่ใช้งานภาคสนาม และช่วยกำจัดปัญหาตั้งแต่คัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงกุ้ง ลดความสูญเสียแก่เกษตรกร นักวิจัยเผยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอกชน
      
       ไวรัสทอร่า (Taura Syndrome Virus: TSV) และไวรัสตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus: WSSV) เป็นปัญหาสำคัญต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม และโรคจากไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดการสูญเสียต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งมากที่สุด โดยสาเหตุการระบาดของไวรัสนั้นเกิดได้ทั้งจากการนำเข้าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่ติดเชื้อ หรือใช้ลูกกุ้งที่ติดเชื้อ และการมีพาหะอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง
      
       เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดในบ่อกุ้งจึงจำเป็นต้องตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่ในขั้นตอนคัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กุ้งก่อนปล่อยลงบ่อ หรือตรวจสอบในระยะเป็นลูกกุ้ง 15 วัน โดยเทคนิคแลมพ์ (LAMP: Loop-mediated isothermal amplification) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาพันธุกรรมของไวรัส แล้วระบุได้ว่ากุ้งติดเชื้อไวรัสหรือไม่จากการวัดความขุ่นของสารละลายหลังนำชิ้นส่วนของกุ้งไปตรวจสอบ
      
       ความขุ่นจากปฏิกิริยาของเทคนิคแลมพ์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวชี้วัดปริมาณการติดเชื้อไวรัส ยิ่งขุ่นมากการติดเชื้อยิ่งมาก หากแต่การประเมินความขุ่นด้วยตานั้นอาจคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือในพื้นที่เลี้ยงกุ้งที่มีแสงแดดจ้านั้นอาจทำให้ผู้ประเมินมองไม่เห็นความขุ่นที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาเครื่องตรวจวัดความขุ่น
      
       ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายหน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค เนคเทค และหัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดความขุ่นอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องตรวจวัดดังกล่าวมีหลอดแอลอีดีสีแดงซึ่งความขุ่นดูดซับได้ดีที่สุดส่องตัวอย่างและมีตัวรับสัญญาณสำหรับประเมินความขุ่นมาก-น้อย และภายในเครื่องยังมีตัวควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 63 องศาเซลเซียสเพื่อให้น้ำยาของชุดตรวจทำงานได้ดี ซึ่งการทดสอบด้วยเทคนิคแลมพ์นี้ต้องใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิอยู่แล้วแต่เครื่องดังกล่าวไม่สามารถวัดความขุ่นได้
      
       เมื่อเทียบกับเครื่องพีซีอาร์ (PCR) สำหรับใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมที่มีราคา 600,000-700,000 บาทแล้ว เครื่องตรวจวัดความขุ่นที่พัฒนาโดยเนคเทคนี้มีถูกกว่าหลายเท่าโดยมีราคาประมาณ 100,000 บาท ซึ่ง ดร.อดิสร ระบุว่าเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อใช้เครื่องตรวจนี้ และเครื่องตรวจวัดนี้ยังพร้อมถ่ายทอดแก่ภาคเอกชนเพื่อผลิตจำหน่ายต่อ โดยคาดว่าราคาเครื่องน่าจะถูกลงตามปริมาณที่ผลิตมากขึ้น
      
       ด้าน ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยจากไบโอเทคและหัวหน้าทีมวิจัยที่รับผิดชอบในส่วนของน้ำยาสำหรับทำปฏิกิริยาในเทคนิคแลมพ์ บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เทคนิคดังกล่าวเป้นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นดยชาวญี่ปุ่นซึ่งใช้เวลาในการทดสอบเร็วกว่าการทดสอบแบบพีซีอาร์ที่ใช้เวลาถึงครึ่งวัน โดยขั้นตอนของการเพิ่มดีเอ็นเอของไวรัสโรคกุ้งในปฏิกิริยาแลมพ์นั้นใช้เวลาในการทำปฏิกิริยาเพียง 30 นาที จากนั้นนำผลที่ได้ไปตรวจวัดหาการติดเชื้อ
      
       เดิมใช้วิธีตรวจด้วยแผ่นวุ้น (gel elcetrophoresis) ซึ่งใช้เวลาตรวจ 1 ชั่วโมงและต้องตรวจภายในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ต่อมาพัฒนาเป็นการตรวจวัดความขุ่นด้วยแผ่นสตริป (strip) ซึ่งใช้เวลา 30 นาที แต่วิธีนี้เมื่อคำนวณค่าใช้เป็นจำนวนปฏิกิริยาแล้วมีราคาสูงกว่าการตรวจด้วยเครื่องที่พัฒนาโดยเนคเทค เนื่องจากต้องใช้สารเคมีบางชนิดที่มีราคาแพง
      
       อย่างไรก็ตาม ดร.วรรณสิกาแนะนำว่าหากเกษตรกรมีการรวมกันเพื่อซื้อชุดตรวจแล้ว การใช้เครื่องตรวจที่พัฒนาโดยเนคเทคนั้นคุ้มค่ากว่า และหากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสในบ่อกุ้งแล้วการใช้แผ่นสตริปตรวจจะเหมาะสมกว่า แต่ทั้งสองวิธีนี้ให้ผลการทดสอบที่แม่นยำใกล้เคียงกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น