วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย

มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย อาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นอัลตราโซนิคทำลายวงจรชีวิตของยุงร้ายได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อคนและสัตว์อื่น เตรียมขยายผลสู่ชุมชนที่มียุงชุม นักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้วเตรียมร่วมมือสาธารณสุขจังหวัดนำไปใช้งานจริงในชุมชน



      
       ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553 (Thailand Research Expo 2010) ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำผลงานวิจัยเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงมาร่วมจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์และนักวิจัยสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. และคณะ
      
       นายทัศนัย วิลัย นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยด้วยอธิบายว่า เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงอาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงอัลตราโซนิคที่ความถี่ประมาณ 30-70 กิโลเฮิร์ต (kHz) ไปทำลายวงจรชีวิตของยุงที่อยู่ในน้ำ ตั้งแต่ระยะไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่ง โดยไปมีผลทำลายอวัยวะภายในของตัวอ่อนยุงในระยะดังกล่าว
      
       เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงประกอบด้วยแบตเตอรี เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (inverter) และออสซิลเลเตอร์ (oscillator) ประกอบกันเป็นตัวเครื่องและต่อเข้ากับหัวสั่นอัลตราโซนิคสำหรับจุ่มลงในแหล่งน้ำที่มีลูกน้ำ และสามารถใช้กับไฟบ้านได้โดยไม่ต้องต่อวงจรเข้ากับแบตเตอรีและตัวแปลงกระแสไฟฟ้า โดยมีต้นทุนในการประดิษฐ์ราว 3,000 บาทต่อเครื่อง
      
       "จากการทดสอบการใช้งานโดยจุ่มหัวอัลตาโซนิคลงในน้ำตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลูกน้ำยุง และกดสวิตซ์ให้เครื่องทำงาน จะเกิดคลื่นอัลตราโซนิคออกมาจากหั่วสั่น ซึ่งจะไปทำลายไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่งของยุงทุกชนิดที่อยู่ภายในรัศมี 1 ฟุต ภายในเวลาไม่เกิน 5 วินาที โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นที่อยู่ในน้ำ" นายทัศนัย อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
      
       ทีมวิจัยบอกว่าคลื่นอัลตราโซนิคที่เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงสร้างขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปลา และสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่ลูกปลาตัวเล็กขนาดเท่าลูกน้ำยุง ทั้งนี้เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดได้ยินเสียงที่คลื่นความถี่ต่างกัน จึงไม่ได้รับอันตรายจากคลื่นความถี่ของเสียงที่ไม่ได้ยิน และไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกมา ซึ่งการกำจัดยุงด้วยวิธีนี้ให้ผล 100% และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงหรือการใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุง
      
       นักวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นและสาธารณสุขจังหวัดเป็นอย่างมากในการนำไปใช้งานจริงในแหล่งชุมชนที่มียุงชุม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งทีมวิจัยมีกำหนดนำเครื่องมือนี้ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่จริงที่ชุมชนใน อ.โนนสูง เป็นแห่งแรกเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์หากมีภาคเอกชนสนใจ
      
       ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ผศ.ดร.ชาญชัย เคยประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์ไล่ค้างคาวด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิคมาแล้ว โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน เพื่อทำให้เกิดคลื่นความถี่ของเสียงรบกวนการหากินของค้างคาวโดยไม่ทำลายชีวิตค้างคาว แต่จะทำให้ค้างคาวเกิดความสับสนกับทิศทางจนต้องบินกลับรัง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาผลไม้ของชาวสวนถูกค้างคาวกัดกินเสียหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น