วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

ขาเทียมจากกระดาษ



นักธุรกิจผู้พัฒนาข้อเข่าและขาเทียมเพื่อผู้พิการ คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมปี 53 ไปครอง เตรียมผลิตแจกผู้พิการให้ทดลองใช้งานจริง 100 ข้าง เพื่อเก็บข้อมูลขั้นสุดท้ายก่อนผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ด้านเอสซีจีเปเปอร์สร้างสรรค์กระดาษเพื่อพิมพ์หนังสือเรียนรับรางวัลเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ เผยกระดาษแบบใหม่ช่วยถนอมสายตา และมีน้ำหนักเบากว่าเดิม 20%
      
 
      นายพีท ริมชลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮลเซี่ยน เมทอล จำกัด ผู้พัฒนา "แฮลเซี่ยน" ข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุน (Halcyon 4 Joint Artificial Leg) ได้รับรางวัลชนะเลิศ "รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ประจำปี 2553" ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นนวัตกรรมการออกแบบและผลิตข้อเข่าและขาเทียมให้มีจุดหมุน 4 ตำแหน่ง เพื่อให้เหมือนกับข้อเข่าจริงของมนุษย์ เพื่อทดแทนข้อเข่าและขาเทียมแบบเดียวกันจากการนำเข้าที่มีราคาสูงมาก
      
       "ทุกวันนี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าข้อเข่าเทียม ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศทั้งหมด เราจึงพัฒนาข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงได้ทุกคน และเหมาะสำหรับการใช้งานในทุกสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใช้เวลาวิจัยและพัฒนามานานกว่า 2 ปี โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษา" นายพีท กล่าว
      
       ทั้งนี้ ข้อเข่าเทียมที่เขาพัฒนาขึ้นนั้นมีทำจากสแตนเลสและหุ้มภายนอกด้วยพาสติก มีความแข็งแรงทนทาน มีระบบสปริงและระบบล็อคอัตโนมัติเพื่อช่วยให้การเดินเหมือนคนปกติมากที่สุด โดยสามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 80 กิโลกรัม
      
       นายพีทกล่าวต่อว่า ขณะนี้ข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุนผ่านการทดสอบทางวิศวกรรมตามมาตรฐานสากล ISO 10328 และทดสอบการใช้งานเบื้องต้นโดยผู้พิการภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว
      
       ขั้นต่อไปจะผลิตข้อเข่าและขาเทียมจำนวน 100 ชุด ให้กับศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูทางการแพทย์สำหรับนำไปทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของผู้พิการจำนวน 100 ราย ในพื้นที่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงแล้วนำมีพัฒนาหรือปรับปรุงในขั้นสุดท้ายก่อนผลิตในเชิงพาณิชย์เร็วๆนี้ และจะพัฒนาต่อไปให้ขาเทียมมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งสามารถนั่งขัดสมาธิได้เหมือนคนปกติทั่วไป
      
       "บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจเครื่องตัดชิ้นส่วนโลหะแล้วจึงอยากทำอะไรที่เป็นการคืนกำไรให้สังคมบ้าง ซึ่งก็ได้เลือกพัฒนาข้อเข่าและขาเทียมขึ้นเนื่องจากมีความต้องการสูง เฉพาะที่ศูนย์สิรินธรฯ มีความต้องการขาเทียมประมาณ 3,000 ข้าง และยังมีมูลนิธิขาเทียมที่มีความต้องการอีกจำนวนมาก ซึ่งการได้รับรางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานพัฒนาขาเทียมเพื่อผู้พิการคนไทยต่อไป" นายพีทกล่าวต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน
      
       ส่วนรางวัลชนะเลิศในด้านเศรษฐกิจมอบให้แก่ผลงานนวัตกรรม "เท็กซ์โปร" (TextPro) กระดาษเพื่องานพิมพ์หนังสือแบบเรียน ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์
      
       ดร.ธนานันท์ อรรคเดชดำรง ผอ.ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ เอสซีจี เปเปอร์ บอกว่าได้พัฒนากระดาษเท็กซ์โปรขึ้นตามความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นโรงพิมพ์ต่างๆ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและฟอกเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษ "ครีมมีพัลพ์" (Creamy Pulp) ที่มีลักษณะพิเศษ มีความนุ่มและฟูมากกว่ากระดาษทั่วไป ทำให้มีน้ำหนักเบาลงประมาณ 20% มีผิวเรียบเนียน แข็งแรง ทำให้ได้ภาพคมชัดและลดปริมาณฝุ่นในขณะพิมพ์ ทั้งยังช่วยถนอมสายตาผู้อ่าน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพิมพ์เป็นแบบเรียน โดยขณะนี้ได้รับการยอมรับจากคุรุสภาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะมีความต้องการกระดาษลักษณะเพิ่มมากขึ้น
      
       ส่วนผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 มีดังนี้ ด้านสังคม ได้แก่ นมข้าวอะมิโนสำหรับทารกที่แพ้นมทุกชนิด และ มิตรผลโมเดล นวัตกรรมการจัดการไร่อ้อยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เบเยอร์คูล ยูวี ชิลด์, ระบบการผลิตกล้วยไม้ส่งออกทางเรือในห้องมืดปรับอากาศ และพลาสติกคอมพาวด์สำหรับการผลิตสายไฟเพื่อความปลอดภัย
      
       ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดงานแถลงข่าวการประกาศผลและพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2553 ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ โดยมี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น