วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

Too Much So Much Very Much (Official Music Video)

กระป๋องมือถือ

ไอเดียเจิด! “กระป๋องมือถือ” ลดห้องร้อน

นักเรียน ม.ปลายไอเดียเจิด เลียนแนวคิด “กระป๋องเบียร์สุญญากาศ” ที่รักษาความเย็นตลอดเวลา พัฒนาเป็น “กระป๋องมือถือ” ลดห้องร้อน ด้วยหลักการลดความดันให้อากาศภายในกระป๋อง ได้เป็นอุปกรณ์ลดอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ



      
       กระป๋องแคนคูลโคลด์ (CanCoolCold) เป็นผลงานของ น.ส.ภัทรพร สิริบัญชาพร นักเรียน ม.6 จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ น.ส.ศุฌิมา พรบรรเจิด และ น.ส.ชนิษฐา วรเจริญ เพื่อร่วมห้องที่มีแนวคิดลดอุณหภูมิห้องด้วยการลดความดัน โดยอ้างอิงกฎของเกย์-ลูสแซค (Gay-Lussac's law) ที่ระบุว่า P1/T1 = P2/T2
      
       น.ส.ภัทรพรกล่าวว่า แนวคิดในการประดิษฐ์กระป๋องอุณหภูมิห้องดังกล่าว เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาได้เห็นกระป๋องเบียร์สุญญากาศ ที่ใช้หลักการลดความดันให้กระป๋องซึ่งช่วยให้เบียร์เย็นตลอดเวลา จึงนำมาสู่การพัฒนากระป๋องแคนคูลโคลด์นี้
      
       ภายในกระป๋องที่ประดิษฐ์ขึ้นจากกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปเหลือทิ้ง นักเรียนทั้งสามได้เจาะรูที่ก้นกระป๋องและเปิดด้านบนของกระป๋องเพื่อใส่หลอดฉีดยา โดยภายในหลอดฉีดยาบรรจุเจลดูดความชื้นเพื่อลดความคลาดเคลื่อนของการทดลอง ภายในกระป๋องรอบๆ หลอดฉีดยาบรรจุของเหลว ซึ่งในการทดลองเลือกเปรียบเทียบการลดอุณหภูมิระหว่างน้ำและแอลกอฮอล์
      
       ขั้นตอนการทดลองคือดึงหลอดฉีดยาขึ้นเพื่อลดความดันและวัดอุณหภูมิจากการทดลองดังกล่าว พบว่าภายในกระป๋องที่บรรจุน้ำมีอุณหภูมิลดลงทันที 1 องศาเซลเซียส ส่วนกระป๋องที่บรรจุแอลกอฮอล์อุณหภูมิลดลง 1.5 องศาเซลเซียส และผลจากการทดลองพบอีกว่าน้ำช่วยรักษาความเย็นได้ดีกว่าแอลกอฮอล์ ทีมนักเรียนจึงแนะนำว่าใช้น้ำเป็นตัวลดอุณหภูมิดีกว่า โดยการนำไปใช้นั้นให้วางด้านหน้าหรือด้านหลังของพัดลมพื่อช่วยกระจายความเย็น
      
       “สิ่งประดิษฐ์นี้ยังเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นค่ะ ยังต้องมีการพัฒนาต่อ” น.ส.ภัทรพรระบุกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
      
       แม้ว่าผลงานนี้ยังนำไปใช้จริงไม่ได้ แต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดเล็กๆ ของนักเรียน ม.ปลายกลุ่มนี้ อาจนำไปสู่อุปกรณ์สร้างความเย็นสบายภายในห้องที่ไม่ต้องเปลืองพลังงานไฟฟ้าได้ในที่สุด

เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย

มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย อาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นอัลตราโซนิคทำลายวงจรชีวิตของยุงร้ายได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อคนและสัตว์อื่น เตรียมขยายผลสู่ชุมชนที่มียุงชุม นักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้วเตรียมร่วมมือสาธารณสุขจังหวัดนำไปใช้งานจริงในชุมชน



      
       ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553 (Thailand Research Expo 2010) ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำผลงานวิจัยเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงมาร่วมจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์และนักวิจัยสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. และคณะ
      
       นายทัศนัย วิลัย นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยด้วยอธิบายว่า เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงอาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงอัลตราโซนิคที่ความถี่ประมาณ 30-70 กิโลเฮิร์ต (kHz) ไปทำลายวงจรชีวิตของยุงที่อยู่ในน้ำ ตั้งแต่ระยะไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่ง โดยไปมีผลทำลายอวัยวะภายในของตัวอ่อนยุงในระยะดังกล่าว
      
       เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงประกอบด้วยแบตเตอรี เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (inverter) และออสซิลเลเตอร์ (oscillator) ประกอบกันเป็นตัวเครื่องและต่อเข้ากับหัวสั่นอัลตราโซนิคสำหรับจุ่มลงในแหล่งน้ำที่มีลูกน้ำ และสามารถใช้กับไฟบ้านได้โดยไม่ต้องต่อวงจรเข้ากับแบตเตอรีและตัวแปลงกระแสไฟฟ้า โดยมีต้นทุนในการประดิษฐ์ราว 3,000 บาทต่อเครื่อง
      
       "จากการทดสอบการใช้งานโดยจุ่มหัวอัลตาโซนิคลงในน้ำตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลูกน้ำยุง และกดสวิตซ์ให้เครื่องทำงาน จะเกิดคลื่นอัลตราโซนิคออกมาจากหั่วสั่น ซึ่งจะไปทำลายไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่งของยุงทุกชนิดที่อยู่ภายในรัศมี 1 ฟุต ภายในเวลาไม่เกิน 5 วินาที โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นที่อยู่ในน้ำ" นายทัศนัย อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
      
       ทีมวิจัยบอกว่าคลื่นอัลตราโซนิคที่เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงสร้างขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปลา และสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่ลูกปลาตัวเล็กขนาดเท่าลูกน้ำยุง ทั้งนี้เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดได้ยินเสียงที่คลื่นความถี่ต่างกัน จึงไม่ได้รับอันตรายจากคลื่นความถี่ของเสียงที่ไม่ได้ยิน และไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกมา ซึ่งการกำจัดยุงด้วยวิธีนี้ให้ผล 100% และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงหรือการใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุง
      
       นักวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นและสาธารณสุขจังหวัดเป็นอย่างมากในการนำไปใช้งานจริงในแหล่งชุมชนที่มียุงชุม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งทีมวิจัยมีกำหนดนำเครื่องมือนี้ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่จริงที่ชุมชนใน อ.โนนสูง เป็นแห่งแรกเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์หากมีภาคเอกชนสนใจ
      
       ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ผศ.ดร.ชาญชัย เคยประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์ไล่ค้างคาวด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิคมาแล้ว โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน เพื่อทำให้เกิดคลื่นความถี่ของเสียงรบกวนการหากินของค้างคาวโดยไม่ทำลายชีวิตค้างคาว แต่จะทำให้ค้างคาวเกิดความสับสนกับทิศทางจนต้องบินกลับรัง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาผลไม้ของชาวสวนถูกค้างคาวกัดกินเสียหาย

ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพัฒนา “อี-สกิน” ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ที่รับรู้ได้ถึงการสัมผัส ถือเป็นก้าวใหญ่ของการพัฒนาหุ่นยนต์ยุคถัดไป รวมถึงแขนขาเทียม โดยวัสดุที่ใช้ทดสอบในห้องแล็บตอบสนองต่อแรงกดในความเร็วระดับเดียวกันได้เกือบเหมือนผิวหนังมนุษย์       
       แม้ว่าอุปสรรคสำคัญในการสร้างผิวหนังเทียมให้คล้ายจริงยังคงอยู่ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่าความสำเร็จจากงานนี้จะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่จะเข้ามาแทนที่หุ่นยนต์อันงุ่มง่าม และทำให้แขนเทียมมีความฉลาดขึ้น ไวต่อการสัมผัสได้มากขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์แมทีเรียลส์ (Nature Materials) ของอังกฤษ
      
       “โดยปกติคนเรารู้ว่าจะถือไข่อันเปราะบางไม่ให้แตกได้ยังไง อย่างเช่นหากเราอยากให้หุ่นยนต์ขนถ่ายจานได้ เราแต่มั่นใจได้ว่าหุ่นยนต์จะไม่ทำแก้วไวน์แตกระหว่างขนถ่าย แต่เราก็อยากให้หุ่นยนต์ถือหม้อซุปใหม่โดยไม่ทำตกด้วย” อาลี จาวีย์ (Ali Javey) รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) ซึ่งเป็นหัวหน้าของ 1 ในทีมผู้ร่วมวิจัยกล่าว
      
       สำหรับ “อี-สกิน” (e-skin) ที่พัฒนาโดยทีมของจาวีย์นี้ประกอบด้วยโครงตาข่ายของลวดนาโน (nanowire) ที่ผลิตจากเจอร์มาเนียมและซิลิกอน ซึ่งม้วนไปบนแผ่นฟิล์มเหนียวๆ โพลีไอไมด์ (polyimide) จากนั้นทีมวิจัยวางทรานซิสเตอร์ขนาดนาโนลงชั้นบน ต่อด้วยยางซึ่งมีความยืดหยุ่นและที่ไวต่อการกด โดยต้นแบบของผิวหนังเทียมนี้มีขนาด 49 ตารางเซนติเมตร ซึ่งสามารถวัดแรงกดได้ระหว่าง 0-15 กิโลปาสคาล เปรียบเทียบได้กับแรงที่ใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการพิมพ์ตัวหนังสือบนแป้นคีย์บอร์ดหรือการถือของ
      
       นอกจากนี้ยังมีผลงานคล้ายๆ กันที่พัฒนาขึ้นโดยทีมของ เจ๋อหนัน เป่า (Zhenan Bao) รองศาสตราจารย์หญิงเชื้อชาติจีน จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) ในแคลิฟอร์เนีย ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักเคมีหญิงอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ อเมริกา ซึ่งความพยายามของพวกเขาคือการใช้ฟิล์มยางที่เปลี่ยนความหนาไปตามแรงกด แล้วใส่ตัวเก็บประจุเข้าไปในฟิล์มยางเพื่อวัดความแตกต่างของแรงกด เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถยืดผิวหนังเทียมนี้ได้
      
       “เวลาตอบสนองของเราพอๆ กับผิวหนังคน มันเร็วมากๆ ในเวลาเพียงมิลลิวินาทีหรือ 1 ใน 1,000 ของวินาที ซึ่งกล่าวในเชิงการใช้งานจริงได้ว่า เรารู้สึกได้ถึงแรงกดในทันที” เป่าบอกแก่เอเอฟพี
      


       ด้าน จอห์น โบแลนด์ (John Boland) นักวิทยาศาสตร์นาโน จากมหาวิทยาลัยทรินิตีคอลเลจดับลิน (Trinity College Dublin) ในไอร์แลนด์ ผู้มีส่วนร่วมในการใช้ชิ้นส่วนประมวลผลราคาถูกให้ความเห็นต่อความสำเร็จข้างต้นว่าเป็น “หลักไมล์ที่สำคัญ” ต่อวงการปัญญาประดิษฐ์
      
       สำหรับสิ่งแทนความรู้สึกมนุษย์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์นั้น เรามีอุปกรณ์แทนการรับรู้ด้านแสงและเสียงที่มีประสิทธิภาพ ส่วนอุปกรณ์รับความรู้สึกด้านกลิ่นและรสนั้นยังไม่ดีพอ แต่สำหรับการสัมผัสแล้วต้องใช้องค์ความรู้ที่กว้างมากซึ่งกลายเป็นปัญหาใหม่ แม้แต่กิจกรรมประจำวันอย่างการแปลงฟัน 1 ซี่ เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแต่งตัวให้เด็กเล็กๆ นั้น หุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันก็ยังทำไม่ได้

ฟองน้ำโมเลกุล

นักวิทย์ออสซีคิดค้น "ฟองน้ำโมเลกุล" มีรูพรุนนับไม่ถ้วน ทนทานแข็งแรงต่อภาวะร้อนชื้อ หวังใช้ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่โรงงานต้นตอ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อน



      
       ทีมนักวิจัยทางด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (Sydney University) ได้คิดค้นสารผลึกที่เต็มไปด้วยรูพรุนขนาดเล็กๆ จำนวนมากที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เอาภายในได้คล้ายกับฟองน้ำที่ดูดซับน้ำเอาไว้ ซึ่งนักวิจัยเรียกวัตถุที่คิดค้นขึ้นว่า "ฟองน้ำโมเลกุล" (molecular sponges) และหวังว่าจะนำสารผลึกนี้ไปวางไว้ในสถานที่ที่มีก๊าซดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงไฟฟ้า เป็นต้น
      
       "คุณอาจจะคิดถึงสิ่งนี้ว่าคล้ายกับฟองน้ำสำหรับล้างจานในครัวได้นิดหน่อย แต่ว่าโครงสร้างทางเคมีของมันนั้นเต็มไปด้วยโพรงเล็กๆ จำนวนมากมายที่เมื่อรวมกันแล้วยังมากกว่าพื้นที่ผิวที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีกเมื่อดูจากขนาดของมัน" เดียนนา เดอเลสซานโดร (Deanna D'Alessandro) หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยผ่านสื่อวิทยุของเอบีซี
      
       "ฉะนั้นหากคุณคิดถึงพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ภายในโพรงเล็กๆ ของฟองน้ำนี้นั้น มันมากมายอย่างเหลือเชื่อมาก และหากคุณลองตักวัสดุที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ในตอนนี้มาสัก 1 ช้อนชา พื้นที่ผิวของวัสดุนี้ที่อยู่ในช้อนชาเดียวรวมกันได้เท่ากับสนามรักบี้ 1 สนามเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างมาก" เธอกล่าว
      
       เดอเลสซานโดร บอกอีกว่า ฟองน้ำที่ทีมวิจัยกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้นทำขึ้นจากวัสดุที่เป็นสารประกอบของโหละและสารอินทรีย์ที่มีรูพรุนสูง (metal-organic framework) มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าวัสดุคล้ายกันที่เคยมีการคิดค้นมาก่อนหน้านี้มาก และสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงมากๆ ในโรงไฟฟ้าได้ ทนต่อสภาวะที่ร้อนชื้นบริเวณปากปล่องควันของโรงไฟฟ้าได้ดี ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ฟองน้ำชุ่มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นสามารถย้อนกลับได้ ซึ่งยอมปล่อยก๊าซที่ถูกดูดซับเอาไว้ออกมาเมื่อมีสภาวะเหมาะสม
      
       อย่างไรก็ดี เอเอฟพีระบุว่าในตอนนี้ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังไม่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะนำไปใช้ได้จริงในอีกไม่ช้าไม่นาน

เข็มฉีดยาจิ๋ว

คนที่กลัวเข็มฉีดยาหรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดยาบ่อยๆ หมดห่วงเรื่องความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้เลย เมื่อเอกชนคิดค้น "เข็มฉีดยาจิ๋ว" ฉีดไม่เจ็บ เตรียมผลิตออกสู่ตลาดกลางปีหน้า พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม "DIC2010"



      
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ประกาศผลการประกวด "รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรมครั้งที่ 3 ประจำปี 2553" (Design Innovation Contest, DIC2010) ซึ่งร่วมกับบริษัท ไอดีไซน์ พับลิชชิ่ง จำกัด นิตยสารวอลเปเปอร์ และ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านการออกแบบและการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปีนี้ผลงาน "เข็มขนาดไมโครเมตรสำหรับนำส่งยาทางผิวหนัง" ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติปั่นจากเครื่องปั่นด้ายที่ให้คุณลักษณะเส้นด้ายคล้ายปั่นด้วยมือคว้ารางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
      
       "ทำไมปากของยุงเล็กนิดเดียวยังกัดและดูดเลือดเราโดยที่เราไม่รู้สึกเจ็บได้ และบางทียังปล่อยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราได้ด้วย ดังนั้นถ้าเราสามารถพัฒนาเข็มฉีดยาเพื่อนำยาหรือวัคซีนเข้าสู่ร่างกายคล้ายกับที่ยุงกัดเรา ก็น่าจะทำให้การฉีดยาง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก เราจึงได้ออกแบบและพัฒนาเข็มฉีดยาที่มีขนาดเล็กระดับไมโครเมตรเรียงตัวกันหลายๆเข็มและบรรจุตัวยาไว้ภายใน เมื่อแตะที่ผิวหนังและกดเบาๆ ก็สามารถนำส่งยาทะลุผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าเข้าไปได้โดยไม่เจาะเข้าเส้นเลือดโดยตรง จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและไม่มีเลือดออก" นายจักรี พิมพะนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาราแฟคทอรี่ จำกัด เผยถึงนวัตกรรมเข็มฉีดยาจิ๋วที่ทางบริษัทได้พัฒนาขึ้นร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      
       นายจักรีกล่าวต่อว่าเข็มฉีดยาจิ๋วนี้เหมาะสำหรับใช้กับยาและวัคซีนที่สามารถกระจายตัวได้ใต้ชั้นผิวหนัง เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ยาคุมกำเนิด ยาชาเฉพาะที่ และอินซูลิน เป็นต้น และสามารถใช้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็ก คนชรา คนที่กลัวเข็มฉีดยา และผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลินเป็นประจำ โดยสามารถฉีดยาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ยุ่งยาก ซึ่งทางบริษัทมีกำหนดผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนในราวกลางปีหน้า
      
       ด้านนายบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จุดเด่นของผ้าทอที่บริษัทของเขาผลิตขึ้นนั้นคือการออกแบบตั้งแต่เส้นใยของผ้า โดยนำเส้นใยธรรมชาติ เช่น ใยกล้วย ใยข่า ใยสับปะรด ใยกัญชง และใยไหม มาผสมกับเส้นใยฝ้าย แล้วปั่นเป็นเส้นได้ด้วยเครื่องปั่นด้ายไทยนำโชคที่พัฒนาขึ้นจากการต่อยอดเทคโนโลยีเครื่องปั่นด้ายของญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งทำให้เส้นด้ายมีความหลากหลายมากขึ้น และมีคุณลักษณะคล้ายกับเส้นด้ายที่ปั่นด้วยมือ
      
       "จากนั้นนำเส้นด้ายที่ปั่นแล้วมาย้อมด้วยสีจากธรรมชาติโดยปราศจากสารเคมี และนำมาทอเป็นผืนผ้า จะทำให้ได้ผ้าทอที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์" นายบัณฑิตเผยต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเขาใช้เวลาพัฒนาเครื่องปั่นด้ายไทยนำโชคจนถึงการออกแบบเส้นด้ายด้วยใยธรรมชาติผสมผสานนานกว่า 4 ปี จึงเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
      
       ส่วนรางวัลในด้านการออกแบบอาหารในปีนี้ไม่มีผลงานไหนได้รับรางวัลชนะเลิศ ขณะที่ "ไอ-ฟรุตซ์ (I-Fruiz) ไอศกรีมเนื้อผลไม้สด" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งนายมรุต ชโลธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวทีฟ ฟู้ด แพ็คเกจจิ้ง จำกัด เปิดเผยถึงแนวคิดนี้ว่าต้องการเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้ไทยที่มีปัญหาล้นตลาด โดยเริ่มจากทุเรียนเป็นชนิดแรก เนื่องจากมีสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี และทุเรียนก็ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก
      
       จากนั้นได้พัฒนานวัตกรรมการปั่นเนื้อทุเรียนสดให้เป็นทุเรียนแช่แข็งที่มีลักษณะเนื้อสัมผัสเหมือนไอศกรีมโดยไม่มีการเติมสารเติมแต่งใดๆ ลงไปทั้งสิ้น แล้วบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติคุณภาพระดับเดียวกับจุกขวดนมสำหรับทารก และได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไอศกรีมทำจากเนื้อผลไม้แท้ 100% รูปทรงไข่ไก่น่ารักน่ารับประทาน โดยผลิตส่งออกไปยังประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นเป็นหลัก และเริ่มทำตลาดในประเทศไทยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีรสมะม่วงที่ทำจากมะม่วงน้ำดอกไม้ และกำลังพัฒนารสชาติใหม่จากผลไม้อีก 2 ชนิดด้วยกัน
      
       นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกแบบเชิงนวัตกรรมอีกหลายผลงานที่ได้รับรางวัล อาทิ ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปไร้น้ำมัน ระบบยืนยันตัวบุคคลด้วยเส้นเลือดดำบนฝ่ามือ พลาสติกตรวจวันค่าปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น นาโนไบโอเซลลูโลสจากน้ำมันมะพร้าวเคลือบโปรตีนกาวไหม เป็นต้น โดยมีการประกาศผลรางวัลไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะมีพิธีมอบรางวัล ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ ในวันที่ 5 ต.ค.53 ซึ่งตรงกับวันนวัตกรรมแห่งชาติพอดี

ลูกตาเทียม

หลังประสบความสำเร็จในการทดสอบความปลอดภัย “ลูกตาเทียม” ชนิดมีรูพรุนที่ไม่เลื่อนหลุดจากเบ้าตาในผู้ป่วย 15 ราย เอ็มเทคเดินหน้าเฟส 2 ขยายความสำเร็จสู่การทดสอบทางคลินิก ก่อนเข้าเข้าเฟส 3 ทดสอบเปรียบเทียบเชิงการค้า
      
       สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมวิจัย “โครงการผลิตลูกตาเทียมโพลิเอธีลีนแบบมีรูพรุนในประเทศไทย ระยะที่ 2: การศึกษาทางคลินิก” กับ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.53 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือหลังโครงการระยะที่ 1 ในการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัยของลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทค
      
       จากการทดสอบลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทคในโครงการระยะที่ 1 นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ กล่าวว่าการทดสอบในผู้ป่วย 10 กว่ารายที่ผ่านมาได้ผล ทั้งนี้ การใช้ลูกเทียมชนิดมีรูพรุนนี้ไม่แพร่หลายเพราะมีราคาแพง โดยลูกตาเทียม 1 ลูกมีราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท จึงนิยมใช้ลูกตาเทียมชนิดผิวเรียบหรือแบบลูกแก้วซึ่งมีราคาประมาณ 100 บาท
      
       อย่างไรก็ดี ลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมีข้อดีต่างจากลูกตาแบบผิวเรียบตรงที่กล้ามเนื้อและเส้นเลือดเจริญเข้าไปในรูพรุนได้ ซึ่งปกป้องกันปัญหาลูกหลุดหรือหล่นออกมา และผู้ป่วยยังสามารถกลอกตาไปมาได้เหมือนตาปกติ เพียงแต่ตาเทียมไม่ช่วยให้มองเห็นได้เท่านั้น โดยข้อมูลจากวัดไร่ขิงยังระบุอีกว่าจำนวนผู้สูญเสียดวงตามีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเอาลูกตาออก 40-50 รายต่อไป ทั้งชนิดเอาออกทั้งลูกตาหรือเก็บตาขาวไว้ ซึ่งการสูญเสียดวงตาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรคตาต่างๆ
      
       เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดลูกตาออกแล้วไม่ได้สวมตาเทียมเข้าไป เนื้อเยื่อรอบเบ้าตาจะหดตัวลง ทำให้เกิดความแตกต่างทางกายภาพและทำให้ผู้ป่วยไม่มั่นใจในการเข้าสังคม เนื่องจากเป็นที่สังเกตได้ชัด จึงมีการพัฒนาลูกตาเทียมเพื่อใส่ทดแทนลูกตาจริงในเบ้าตา ก่อนใส่ “ตาปลอม” อีกทีเพื่อให้ผู้ป่วยดูไม่แตกต่างจากคนอื่น
      
       การทดสอบลูกตาเทียมซึ่งเป็นผลงานจากเนคเทคนั้นทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ศึกษาในผู้ป่วย 15 ราย ในช่วงเดือน ส.ค.52-เม.ย.53 ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการใส่ลูกตาเทียม มีทั้งผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเอาลูกตาออกนานแล้ว และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาลูกตาออกทั้งหมดกับผู้ป่วยที่เอาลูกตาออกโดยเหลือไว้เฉพาะตาขาว ซึ่งทุกรายมีสุขภาพดีหลังผ่าตัด แต่มี 2 รายที่พบว่าบางส่วนของลูกตาเทียมโพล่ ซึ่งหายเองได้ภายหลังให้การรักษา อีกทั้งยังพบการงอกของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อเข้าไปในลูกตาเทียมของผู้ป่วยด้วย
      
       ด้าน ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป นักวิจัยวัสดุทางการแพทย์จากเอ็มเทค กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้าทำวิจัยไปตามความสนใจ จนกระทั่งทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ติดต่อให้ช่วยพัฒนาลูกตาเทียมเมื่อปี 2552 และนำไปสู่การทดสอบความปลอดภัยในโครงการระยะแรก ซึ่งแพทย์ที่ร่วมทดสอบให้ความเห็นว่าใช้งานได้ผลดี โดยลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นมานี้มีหลายขนาดไปตามความต้องการ โดยที่นิยมคือขนาด 16, 18, 20, และ 22 มิลลิเมตร แต่ในการผลิตจริงต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีผู้รับช่วงต่ออีกที ซึ่งขณะนี้ยังต้องศึกษาวิจัยอีก และหลังการทดสอบในระยะที่ 2 แล้ว จะทดสอบในระยะที่ 3 คือเปรียบเทียบลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นเองกับลูกตาเทียมที่มีจำหน่ายทางการค้า
      
       สำหรับลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกตาเทียมไฮดรอกซีแอปาไทด์ ซึ่งผลิตได้จากปะการังหรือกระดูกสัตว์ และลูกตาเทียมจากพลาสติกโพลีเอธิลีน แต่ทั้ง 2 ชนิดมีราคาตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทคให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ราคาจะต่ำลงตามจำนวนการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมีราคาในระดับหลักพันบาท แต่ระหว่างนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อความมั่นใจในการใช้งานลูกตาเทียมที่ผลิตได้เองในไทยนี้
      
       “เอ็มเทคอาจจะดูไกลจากการแพทย์ แต่จริงๆ แล้วงานด้านวัสดุศาสตร์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เรื่อง คือ โครงสร้างวัสดุและสมบัติของวัสดุ คุณอยากได้วัสดุมีคุณสมบัติอย่างไรบอกเราได้ วัสดุชีวภาพ (Biomaterial) เป็นอีกตัวอย่างของวัสดุที่ใช้ในทางการแพทย์และเป็นสาขาที่ท้าทาย แต่คงไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีผู้ใช้ ลำพังเอ็มเทคทำไปตามจินตนาการก็ได้ไม่เท่าไร สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ต้องการอะไร เอ็มเทคมีบุคลากรประมาณ 500 คน กว่า 100 คน เป็นด็อกเตอร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คนเหล่านี้รัฐบาลลงทุนไปเยอะมาก จึงต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้ม แต่อย่าไปใช้ว่าเขาต้องการทำอะไร แต่ให้เขาทำตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยได้เยอะมาก แต่โครงการนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว