วาเลนไทน์

10 กุมภาพันธ์ 2554

Too Much So Much Very Much (Official Music Video)

กระป๋องมือถือ

ไอเดียเจิด! “กระป๋องมือถือ” ลดห้องร้อน

นักเรียน ม.ปลายไอเดียเจิด เลียนแนวคิด “กระป๋องเบียร์สุญญากาศ” ที่รักษาความเย็นตลอดเวลา พัฒนาเป็น “กระป๋องมือถือ” ลดห้องร้อน ด้วยหลักการลดความดันให้อากาศภายในกระป๋อง ได้เป็นอุปกรณ์ลดอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ



      
       กระป๋องแคนคูลโคลด์ (CanCoolCold) เป็นผลงานของ น.ส.ภัทรพร สิริบัญชาพร นักเรียน ม.6 จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ น.ส.ศุฌิมา พรบรรเจิด และ น.ส.ชนิษฐา วรเจริญ เพื่อร่วมห้องที่มีแนวคิดลดอุณหภูมิห้องด้วยการลดความดัน โดยอ้างอิงกฎของเกย์-ลูสแซค (Gay-Lussac's law) ที่ระบุว่า P1/T1 = P2/T2
      
       น.ส.ภัทรพรกล่าวว่า แนวคิดในการประดิษฐ์กระป๋องอุณหภูมิห้องดังกล่าว เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาได้เห็นกระป๋องเบียร์สุญญากาศ ที่ใช้หลักการลดความดันให้กระป๋องซึ่งช่วยให้เบียร์เย็นตลอดเวลา จึงนำมาสู่การพัฒนากระป๋องแคนคูลโคลด์นี้
      
       ภายในกระป๋องที่ประดิษฐ์ขึ้นจากกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปเหลือทิ้ง นักเรียนทั้งสามได้เจาะรูที่ก้นกระป๋องและเปิดด้านบนของกระป๋องเพื่อใส่หลอดฉีดยา โดยภายในหลอดฉีดยาบรรจุเจลดูดความชื้นเพื่อลดความคลาดเคลื่อนของการทดลอง ภายในกระป๋องรอบๆ หลอดฉีดยาบรรจุของเหลว ซึ่งในการทดลองเลือกเปรียบเทียบการลดอุณหภูมิระหว่างน้ำและแอลกอฮอล์
      
       ขั้นตอนการทดลองคือดึงหลอดฉีดยาขึ้นเพื่อลดความดันและวัดอุณหภูมิจากการทดลองดังกล่าว พบว่าภายในกระป๋องที่บรรจุน้ำมีอุณหภูมิลดลงทันที 1 องศาเซลเซียส ส่วนกระป๋องที่บรรจุแอลกอฮอล์อุณหภูมิลดลง 1.5 องศาเซลเซียส และผลจากการทดลองพบอีกว่าน้ำช่วยรักษาความเย็นได้ดีกว่าแอลกอฮอล์ ทีมนักเรียนจึงแนะนำว่าใช้น้ำเป็นตัวลดอุณหภูมิดีกว่า โดยการนำไปใช้นั้นให้วางด้านหน้าหรือด้านหลังของพัดลมพื่อช่วยกระจายความเย็น
      
       “สิ่งประดิษฐ์นี้ยังเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นค่ะ ยังต้องมีการพัฒนาต่อ” น.ส.ภัทรพรระบุกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
      
       แม้ว่าผลงานนี้ยังนำไปใช้จริงไม่ได้ แต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดเล็กๆ ของนักเรียน ม.ปลายกลุ่มนี้ อาจนำไปสู่อุปกรณ์สร้างความเย็นสบายภายในห้องที่ไม่ต้องเปลืองพลังงานไฟฟ้าได้ในที่สุด

เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย

มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลาย อาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นอัลตราโซนิคทำลายวงจรชีวิตของยุงร้ายได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อคนและสัตว์อื่น เตรียมขยายผลสู่ชุมชนที่มียุงชุม นักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรแล้วเตรียมร่วมมือสาธารณสุขจังหวัดนำไปใช้งานจริงในชุมชน



      
       ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553 (Thailand Research Expo 2010) ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำผลงานวิจัยเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงมาร่วมจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์และนักวิจัยสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. และคณะ
      
       นายทัศนัย วิลัย นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยด้วยอธิบายว่า เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงอาศัยการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงอัลตราโซนิคที่ความถี่ประมาณ 30-70 กิโลเฮิร์ต (kHz) ไปทำลายวงจรชีวิตของยุงที่อยู่ในน้ำ ตั้งแต่ระยะไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่ง โดยไปมีผลทำลายอวัยวะภายในของตัวอ่อนยุงในระยะดังกล่าว
      
       เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงประกอบด้วยแบตเตอรี เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (inverter) และออสซิลเลเตอร์ (oscillator) ประกอบกันเป็นตัวเครื่องและต่อเข้ากับหัวสั่นอัลตราโซนิคสำหรับจุ่มลงในแหล่งน้ำที่มีลูกน้ำ และสามารถใช้กับไฟบ้านได้โดยไม่ต้องต่อวงจรเข้ากับแบตเตอรีและตัวแปลงกระแสไฟฟ้า โดยมีต้นทุนในการประดิษฐ์ราว 3,000 บาทต่อเครื่อง
      
       "จากการทดสอบการใช้งานโดยจุ่มหัวอัลตาโซนิคลงในน้ำตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลูกน้ำยุง และกดสวิตซ์ให้เครื่องทำงาน จะเกิดคลื่นอัลตราโซนิคออกมาจากหั่วสั่น ซึ่งจะไปทำลายไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่งของยุงทุกชนิดที่อยู่ภายในรัศมี 1 ฟุต ภายในเวลาไม่เกิน 5 วินาที โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นที่อยู่ในน้ำ" นายทัศนัย อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
      
       ทีมวิจัยบอกว่าคลื่นอัลตราโซนิคที่เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงสร้างขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปลา และสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่ลูกปลาตัวเล็กขนาดเท่าลูกน้ำยุง ทั้งนี้เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดได้ยินเสียงที่คลื่นความถี่ต่างกัน จึงไม่ได้รับอันตรายจากคลื่นความถี่ของเสียงที่ไม่ได้ยิน และไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกมา ซึ่งการกำจัดยุงด้วยวิธีนี้ให้ผล 100% และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงหรือการใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุง
      
       นักวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นและสาธารณสุขจังหวัดเป็นอย่างมากในการนำไปใช้งานจริงในแหล่งชุมชนที่มียุงชุม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งทีมวิจัยมีกำหนดนำเครื่องมือนี้ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่จริงที่ชุมชนใน อ.โนนสูง เป็นแห่งแรกเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์หากมีภาคเอกชนสนใจ
      
       ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ผศ.ดร.ชาญชัย เคยประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์ไล่ค้างคาวด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิคมาแล้ว โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน เพื่อทำให้เกิดคลื่นความถี่ของเสียงรบกวนการหากินของค้างคาวโดยไม่ทำลายชีวิตค้างคาว แต่จะทำให้ค้างคาวเกิดความสับสนกับทิศทางจนต้องบินกลับรัง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาผลไม้ของชาวสวนถูกค้างคาวกัดกินเสียหาย

ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพัฒนา “อี-สกิน” ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ที่รับรู้ได้ถึงการสัมผัส ถือเป็นก้าวใหญ่ของการพัฒนาหุ่นยนต์ยุคถัดไป รวมถึงแขนขาเทียม โดยวัสดุที่ใช้ทดสอบในห้องแล็บตอบสนองต่อแรงกดในความเร็วระดับเดียวกันได้เกือบเหมือนผิวหนังมนุษย์       
       แม้ว่าอุปสรรคสำคัญในการสร้างผิวหนังเทียมให้คล้ายจริงยังคงอยู่ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่าความสำเร็จจากงานนี้จะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่จะเข้ามาแทนที่หุ่นยนต์อันงุ่มง่าม และทำให้แขนเทียมมีความฉลาดขึ้น ไวต่อการสัมผัสได้มากขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์แมทีเรียลส์ (Nature Materials) ของอังกฤษ
      
       “โดยปกติคนเรารู้ว่าจะถือไข่อันเปราะบางไม่ให้แตกได้ยังไง อย่างเช่นหากเราอยากให้หุ่นยนต์ขนถ่ายจานได้ เราแต่มั่นใจได้ว่าหุ่นยนต์จะไม่ทำแก้วไวน์แตกระหว่างขนถ่าย แต่เราก็อยากให้หุ่นยนต์ถือหม้อซุปใหม่โดยไม่ทำตกด้วย” อาลี จาวีย์ (Ali Javey) รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) ซึ่งเป็นหัวหน้าของ 1 ในทีมผู้ร่วมวิจัยกล่าว
      
       สำหรับ “อี-สกิน” (e-skin) ที่พัฒนาโดยทีมของจาวีย์นี้ประกอบด้วยโครงตาข่ายของลวดนาโน (nanowire) ที่ผลิตจากเจอร์มาเนียมและซิลิกอน ซึ่งม้วนไปบนแผ่นฟิล์มเหนียวๆ โพลีไอไมด์ (polyimide) จากนั้นทีมวิจัยวางทรานซิสเตอร์ขนาดนาโนลงชั้นบน ต่อด้วยยางซึ่งมีความยืดหยุ่นและที่ไวต่อการกด โดยต้นแบบของผิวหนังเทียมนี้มีขนาด 49 ตารางเซนติเมตร ซึ่งสามารถวัดแรงกดได้ระหว่าง 0-15 กิโลปาสคาล เปรียบเทียบได้กับแรงที่ใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการพิมพ์ตัวหนังสือบนแป้นคีย์บอร์ดหรือการถือของ
      
       นอกจากนี้ยังมีผลงานคล้ายๆ กันที่พัฒนาขึ้นโดยทีมของ เจ๋อหนัน เป่า (Zhenan Bao) รองศาสตราจารย์หญิงเชื้อชาติจีน จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) ในแคลิฟอร์เนีย ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักเคมีหญิงอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ อเมริกา ซึ่งความพยายามของพวกเขาคือการใช้ฟิล์มยางที่เปลี่ยนความหนาไปตามแรงกด แล้วใส่ตัวเก็บประจุเข้าไปในฟิล์มยางเพื่อวัดความแตกต่างของแรงกด เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถยืดผิวหนังเทียมนี้ได้
      
       “เวลาตอบสนองของเราพอๆ กับผิวหนังคน มันเร็วมากๆ ในเวลาเพียงมิลลิวินาทีหรือ 1 ใน 1,000 ของวินาที ซึ่งกล่าวในเชิงการใช้งานจริงได้ว่า เรารู้สึกได้ถึงแรงกดในทันที” เป่าบอกแก่เอเอฟพี
      


       ด้าน จอห์น โบแลนด์ (John Boland) นักวิทยาศาสตร์นาโน จากมหาวิทยาลัยทรินิตีคอลเลจดับลิน (Trinity College Dublin) ในไอร์แลนด์ ผู้มีส่วนร่วมในการใช้ชิ้นส่วนประมวลผลราคาถูกให้ความเห็นต่อความสำเร็จข้างต้นว่าเป็น “หลักไมล์ที่สำคัญ” ต่อวงการปัญญาประดิษฐ์
      
       สำหรับสิ่งแทนความรู้สึกมนุษย์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์นั้น เรามีอุปกรณ์แทนการรับรู้ด้านแสงและเสียงที่มีประสิทธิภาพ ส่วนอุปกรณ์รับความรู้สึกด้านกลิ่นและรสนั้นยังไม่ดีพอ แต่สำหรับการสัมผัสแล้วต้องใช้องค์ความรู้ที่กว้างมากซึ่งกลายเป็นปัญหาใหม่ แม้แต่กิจกรรมประจำวันอย่างการแปลงฟัน 1 ซี่ เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแต่งตัวให้เด็กเล็กๆ นั้น หุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันก็ยังทำไม่ได้

ฟองน้ำโมเลกุล

นักวิทย์ออสซีคิดค้น "ฟองน้ำโมเลกุล" มีรูพรุนนับไม่ถ้วน ทนทานแข็งแรงต่อภาวะร้อนชื้อ หวังใช้ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่โรงงานต้นตอ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อน



      
       ทีมนักวิจัยทางด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (Sydney University) ได้คิดค้นสารผลึกที่เต็มไปด้วยรูพรุนขนาดเล็กๆ จำนวนมากที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เอาภายในได้คล้ายกับฟองน้ำที่ดูดซับน้ำเอาไว้ ซึ่งนักวิจัยเรียกวัตถุที่คิดค้นขึ้นว่า "ฟองน้ำโมเลกุล" (molecular sponges) และหวังว่าจะนำสารผลึกนี้ไปวางไว้ในสถานที่ที่มีก๊าซดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงไฟฟ้า เป็นต้น
      
       "คุณอาจจะคิดถึงสิ่งนี้ว่าคล้ายกับฟองน้ำสำหรับล้างจานในครัวได้นิดหน่อย แต่ว่าโครงสร้างทางเคมีของมันนั้นเต็มไปด้วยโพรงเล็กๆ จำนวนมากมายที่เมื่อรวมกันแล้วยังมากกว่าพื้นที่ผิวที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีกเมื่อดูจากขนาดของมัน" เดียนนา เดอเลสซานโดร (Deanna D'Alessandro) หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยผ่านสื่อวิทยุของเอบีซี
      
       "ฉะนั้นหากคุณคิดถึงพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ภายในโพรงเล็กๆ ของฟองน้ำนี้นั้น มันมากมายอย่างเหลือเชื่อมาก และหากคุณลองตักวัสดุที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ในตอนนี้มาสัก 1 ช้อนชา พื้นที่ผิวของวัสดุนี้ที่อยู่ในช้อนชาเดียวรวมกันได้เท่ากับสนามรักบี้ 1 สนามเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างมาก" เธอกล่าว
      
       เดอเลสซานโดร บอกอีกว่า ฟองน้ำที่ทีมวิจัยกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้นทำขึ้นจากวัสดุที่เป็นสารประกอบของโหละและสารอินทรีย์ที่มีรูพรุนสูง (metal-organic framework) มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าวัสดุคล้ายกันที่เคยมีการคิดค้นมาก่อนหน้านี้มาก และสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงมากๆ ในโรงไฟฟ้าได้ ทนต่อสภาวะที่ร้อนชื้นบริเวณปากปล่องควันของโรงไฟฟ้าได้ดี ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ฟองน้ำชุ่มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นสามารถย้อนกลับได้ ซึ่งยอมปล่อยก๊าซที่ถูกดูดซับเอาไว้ออกมาเมื่อมีสภาวะเหมาะสม
      
       อย่างไรก็ดี เอเอฟพีระบุว่าในตอนนี้ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังไม่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะนำไปใช้ได้จริงในอีกไม่ช้าไม่นาน

เข็มฉีดยาจิ๋ว

คนที่กลัวเข็มฉีดยาหรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดยาบ่อยๆ หมดห่วงเรื่องความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้เลย เมื่อเอกชนคิดค้น "เข็มฉีดยาจิ๋ว" ฉีดไม่เจ็บ เตรียมผลิตออกสู่ตลาดกลางปีหน้า พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม "DIC2010"



      
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ประกาศผลการประกวด "รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรมครั้งที่ 3 ประจำปี 2553" (Design Innovation Contest, DIC2010) ซึ่งร่วมกับบริษัท ไอดีไซน์ พับลิชชิ่ง จำกัด นิตยสารวอลเปเปอร์ และ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านการออกแบบและการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปีนี้ผลงาน "เข็มขนาดไมโครเมตรสำหรับนำส่งยาทางผิวหนัง" ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติปั่นจากเครื่องปั่นด้ายที่ให้คุณลักษณะเส้นด้ายคล้ายปั่นด้วยมือคว้ารางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
      
       "ทำไมปากของยุงเล็กนิดเดียวยังกัดและดูดเลือดเราโดยที่เราไม่รู้สึกเจ็บได้ และบางทียังปล่อยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราได้ด้วย ดังนั้นถ้าเราสามารถพัฒนาเข็มฉีดยาเพื่อนำยาหรือวัคซีนเข้าสู่ร่างกายคล้ายกับที่ยุงกัดเรา ก็น่าจะทำให้การฉีดยาง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก เราจึงได้ออกแบบและพัฒนาเข็มฉีดยาที่มีขนาดเล็กระดับไมโครเมตรเรียงตัวกันหลายๆเข็มและบรรจุตัวยาไว้ภายใน เมื่อแตะที่ผิวหนังและกดเบาๆ ก็สามารถนำส่งยาทะลุผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าเข้าไปได้โดยไม่เจาะเข้าเส้นเลือดโดยตรง จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและไม่มีเลือดออก" นายจักรี พิมพะนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาราแฟคทอรี่ จำกัด เผยถึงนวัตกรรมเข็มฉีดยาจิ๋วที่ทางบริษัทได้พัฒนาขึ้นร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      
       นายจักรีกล่าวต่อว่าเข็มฉีดยาจิ๋วนี้เหมาะสำหรับใช้กับยาและวัคซีนที่สามารถกระจายตัวได้ใต้ชั้นผิวหนัง เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ยาคุมกำเนิด ยาชาเฉพาะที่ และอินซูลิน เป็นต้น และสามารถใช้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็ก คนชรา คนที่กลัวเข็มฉีดยา และผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลินเป็นประจำ โดยสามารถฉีดยาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ยุ่งยาก ซึ่งทางบริษัทมีกำหนดผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนในราวกลางปีหน้า
      
       ด้านนายบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จุดเด่นของผ้าทอที่บริษัทของเขาผลิตขึ้นนั้นคือการออกแบบตั้งแต่เส้นใยของผ้า โดยนำเส้นใยธรรมชาติ เช่น ใยกล้วย ใยข่า ใยสับปะรด ใยกัญชง และใยไหม มาผสมกับเส้นใยฝ้าย แล้วปั่นเป็นเส้นได้ด้วยเครื่องปั่นด้ายไทยนำโชคที่พัฒนาขึ้นจากการต่อยอดเทคโนโลยีเครื่องปั่นด้ายของญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งทำให้เส้นด้ายมีความหลากหลายมากขึ้น และมีคุณลักษณะคล้ายกับเส้นด้ายที่ปั่นด้วยมือ
      
       "จากนั้นนำเส้นด้ายที่ปั่นแล้วมาย้อมด้วยสีจากธรรมชาติโดยปราศจากสารเคมี และนำมาทอเป็นผืนผ้า จะทำให้ได้ผ้าทอที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์" นายบัณฑิตเผยต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเขาใช้เวลาพัฒนาเครื่องปั่นด้ายไทยนำโชคจนถึงการออกแบบเส้นด้ายด้วยใยธรรมชาติผสมผสานนานกว่า 4 ปี จึงเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
      
       ส่วนรางวัลในด้านการออกแบบอาหารในปีนี้ไม่มีผลงานไหนได้รับรางวัลชนะเลิศ ขณะที่ "ไอ-ฟรุตซ์ (I-Fruiz) ไอศกรีมเนื้อผลไม้สด" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งนายมรุต ชโลธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวทีฟ ฟู้ด แพ็คเกจจิ้ง จำกัด เปิดเผยถึงแนวคิดนี้ว่าต้องการเพิ่มมูลค่าให้ผลไม้ไทยที่มีปัญหาล้นตลาด โดยเริ่มจากทุเรียนเป็นชนิดแรก เนื่องจากมีสวนทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี และทุเรียนก็ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก
      
       จากนั้นได้พัฒนานวัตกรรมการปั่นเนื้อทุเรียนสดให้เป็นทุเรียนแช่แข็งที่มีลักษณะเนื้อสัมผัสเหมือนไอศกรีมโดยไม่มีการเติมสารเติมแต่งใดๆ ลงไปทั้งสิ้น แล้วบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติคุณภาพระดับเดียวกับจุกขวดนมสำหรับทารก และได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไอศกรีมทำจากเนื้อผลไม้แท้ 100% รูปทรงไข่ไก่น่ารักน่ารับประทาน โดยผลิตส่งออกไปยังประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นเป็นหลัก และเริ่มทำตลาดในประเทศไทยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีรสมะม่วงที่ทำจากมะม่วงน้ำดอกไม้ และกำลังพัฒนารสชาติใหม่จากผลไม้อีก 2 ชนิดด้วยกัน
      
       นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกแบบเชิงนวัตกรรมอีกหลายผลงานที่ได้รับรางวัล อาทิ ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปไร้น้ำมัน ระบบยืนยันตัวบุคคลด้วยเส้นเลือดดำบนฝ่ามือ พลาสติกตรวจวันค่าปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น นาโนไบโอเซลลูโลสจากน้ำมันมะพร้าวเคลือบโปรตีนกาวไหม เป็นต้น โดยมีการประกาศผลรางวัลไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะมีพิธีมอบรางวัล ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ ในวันที่ 5 ต.ค.53 ซึ่งตรงกับวันนวัตกรรมแห่งชาติพอดี

ลูกตาเทียม

หลังประสบความสำเร็จในการทดสอบความปลอดภัย “ลูกตาเทียม” ชนิดมีรูพรุนที่ไม่เลื่อนหลุดจากเบ้าตาในผู้ป่วย 15 ราย เอ็มเทคเดินหน้าเฟส 2 ขยายความสำเร็จสู่การทดสอบทางคลินิก ก่อนเข้าเข้าเฟส 3 ทดสอบเปรียบเทียบเชิงการค้า
      
       สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมวิจัย “โครงการผลิตลูกตาเทียมโพลิเอธีลีนแบบมีรูพรุนในประเทศไทย ระยะที่ 2: การศึกษาทางคลินิก” กับ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.53 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือหลังโครงการระยะที่ 1 ในการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัยของลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทค
      
       จากการทดสอบลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทคในโครงการระยะที่ 1 นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ กล่าวว่าการทดสอบในผู้ป่วย 10 กว่ารายที่ผ่านมาได้ผล ทั้งนี้ การใช้ลูกเทียมชนิดมีรูพรุนนี้ไม่แพร่หลายเพราะมีราคาแพง โดยลูกตาเทียม 1 ลูกมีราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท จึงนิยมใช้ลูกตาเทียมชนิดผิวเรียบหรือแบบลูกแก้วซึ่งมีราคาประมาณ 100 บาท
      
       อย่างไรก็ดี ลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมีข้อดีต่างจากลูกตาแบบผิวเรียบตรงที่กล้ามเนื้อและเส้นเลือดเจริญเข้าไปในรูพรุนได้ ซึ่งปกป้องกันปัญหาลูกหลุดหรือหล่นออกมา และผู้ป่วยยังสามารถกลอกตาไปมาได้เหมือนตาปกติ เพียงแต่ตาเทียมไม่ช่วยให้มองเห็นได้เท่านั้น โดยข้อมูลจากวัดไร่ขิงยังระบุอีกว่าจำนวนผู้สูญเสียดวงตามีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเอาลูกตาออก 40-50 รายต่อไป ทั้งชนิดเอาออกทั้งลูกตาหรือเก็บตาขาวไว้ ซึ่งการสูญเสียดวงตาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรคตาต่างๆ
      
       เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดลูกตาออกแล้วไม่ได้สวมตาเทียมเข้าไป เนื้อเยื่อรอบเบ้าตาจะหดตัวลง ทำให้เกิดความแตกต่างทางกายภาพและทำให้ผู้ป่วยไม่มั่นใจในการเข้าสังคม เนื่องจากเป็นที่สังเกตได้ชัด จึงมีการพัฒนาลูกตาเทียมเพื่อใส่ทดแทนลูกตาจริงในเบ้าตา ก่อนใส่ “ตาปลอม” อีกทีเพื่อให้ผู้ป่วยดูไม่แตกต่างจากคนอื่น
      
       การทดสอบลูกตาเทียมซึ่งเป็นผลงานจากเนคเทคนั้นทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ศึกษาในผู้ป่วย 15 ราย ในช่วงเดือน ส.ค.52-เม.ย.53 ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการใส่ลูกตาเทียม มีทั้งผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเอาลูกตาออกนานแล้ว และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาลูกตาออกทั้งหมดกับผู้ป่วยที่เอาลูกตาออกโดยเหลือไว้เฉพาะตาขาว ซึ่งทุกรายมีสุขภาพดีหลังผ่าตัด แต่มี 2 รายที่พบว่าบางส่วนของลูกตาเทียมโพล่ ซึ่งหายเองได้ภายหลังให้การรักษา อีกทั้งยังพบการงอกของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อเข้าไปในลูกตาเทียมของผู้ป่วยด้วย
      
       ด้าน ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป นักวิจัยวัสดุทางการแพทย์จากเอ็มเทค กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้าทำวิจัยไปตามความสนใจ จนกระทั่งทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ติดต่อให้ช่วยพัฒนาลูกตาเทียมเมื่อปี 2552 และนำไปสู่การทดสอบความปลอดภัยในโครงการระยะแรก ซึ่งแพทย์ที่ร่วมทดสอบให้ความเห็นว่าใช้งานได้ผลดี โดยลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นมานี้มีหลายขนาดไปตามความต้องการ โดยที่นิยมคือขนาด 16, 18, 20, และ 22 มิลลิเมตร แต่ในการผลิตจริงต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีผู้รับช่วงต่ออีกที ซึ่งขณะนี้ยังต้องศึกษาวิจัยอีก และหลังการทดสอบในระยะที่ 2 แล้ว จะทดสอบในระยะที่ 3 คือเปรียบเทียบลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นเองกับลูกตาเทียมที่มีจำหน่ายทางการค้า
      
       สำหรับลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกตาเทียมไฮดรอกซีแอปาไทด์ ซึ่งผลิตได้จากปะการังหรือกระดูกสัตว์ และลูกตาเทียมจากพลาสติกโพลีเอธิลีน แต่ทั้ง 2 ชนิดมีราคาตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทคให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ราคาจะต่ำลงตามจำนวนการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมีราคาในระดับหลักพันบาท แต่ระหว่างนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อความมั่นใจในการใช้งานลูกตาเทียมที่ผลิตได้เองในไทยนี้
      
       “เอ็มเทคอาจจะดูไกลจากการแพทย์ แต่จริงๆ แล้วงานด้านวัสดุศาสตร์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เรื่อง คือ โครงสร้างวัสดุและสมบัติของวัสดุ คุณอยากได้วัสดุมีคุณสมบัติอย่างไรบอกเราได้ วัสดุชีวภาพ (Biomaterial) เป็นอีกตัวอย่างของวัสดุที่ใช้ในทางการแพทย์และเป็นสาขาที่ท้าทาย แต่คงไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีผู้ใช้ ลำพังเอ็มเทคทำไปตามจินตนาการก็ได้ไม่เท่าไร สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ต้องการอะไร เอ็มเทคมีบุคลากรประมาณ 500 คน กว่า 100 คน เป็นด็อกเตอร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คนเหล่านี้รัฐบาลลงทุนไปเยอะมาก จึงต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้ม แต่อย่าไปใช้ว่าเขาต้องการทำอะไร แต่ให้เขาทำตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยได้เยอะมาก แต่โครงการนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

โฟมย่อยได้

มจธ. พัฒนา "โฟมแป้งมัน" บรรจุภัณฑ์ย่อยได้ในธรรมชาติ

นักศึกษาปริญญาโท มจธ. พัฒนานวัตกรรม "โฟมย่อยได้" ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังผสมเส้นใยธรรมชาติ มีน้ำหนักเบา แข็งแรงและยืดหยุ่นเทียบเท่าโฟมทั่วไป ใช้บรรจุผลไม้ฉ่ำน้ำอย่างส้มโอได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อไปให้ทนต่อการละลายน้ำและทนความร้อนได้ดียิ่งขึ้น เบื้องต้นมีภาคเอกชนสนใจนำต่อยอดระดับอุตสาหกรรมทำวัสดุกันกระแทกในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
      
       นายณัติฐพล ไข่แสงศรี นักศึกษาปริญญาโท คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนจากโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการพัฒนาถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลังเพื่อใช้แทนโฟมที่ผลิตจากปิโตรเคมีที่ย่อยสลายยากและก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม
      
       "การใช้บรรจุภัณฑ์โฟมพลาสติกจำนวนมากในปัจจุบันนี้ก่อให้เกิดปัญหาขยะและมลพิษในสิ่งแวดล้อม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น โฟมแป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้" นายณัติฐพล กล่าวต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
      
       นายณัติฐพลได้ศึกษาการพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง โดยได้อธิบายกระบวนการผลิตถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลังว่า นำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำ ไฟเบอร์จากเยื่อคราฟท์ และไคโตแซน จากนั้นให้ความร้อนด้วยอุณหภูมิสูง 250 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 นาที จะทำให้แป้งมันเกิดการพองตัวเนื่องจากมีฟองอากาศอยู่ภายเจลแป้งมัน คล้ายกับโฟมที่มีฟองอากาศอยู่ภายในพลาสติก
      
       จากการทดสอบคุณสมบัติพบว่าถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลังมีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นแรงใกล้เคียงกับโฟมทั่วไป แต่มีค่าการดูดซับน้ำและการละลายน้ำสูงกว่า โฟมจากแป้งมันสำปะหลังจึงสามารถใช้บรรจุอาหารหรือผลิตภัณฑ์แห้งได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหรือมีความชื้นสูงได้
      
       นักวิจัยจึงปรับปรุงคุณสมบัติของโฟมแป้งมันสำปะหลังโดยการเติมสารเติมแต่งบางชนิดที่เป็นสารชีวภาพเข้าไป พบว่าช่วยให้ถาดโฟมจากแป้งมันดูดซับน้ำและละลายน้ำได้ลดลง โดยที่ยังคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อทดลองนำถาดโฟมแป้งมันมาใช้บรรจุส้มโอตัดแต่งสด สามารถเก็บรักษาส้มโอได้นานประมาณ 1 เดือน ในตู้เย็น และด้วยวัตถุดิบของโฟมแป้งมันสำปะหลังเป็นวัสดุชีวภาพทั้งหมด จึงสามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ 100% แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ
      
       "โฟมจากแป้งมันสำปะหลังสามารถใช้แทนโฟมทั่วไปได้ในกรณีที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่แห้งได้ และใช้บรรจุส้มโอ ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีน้ำมากได้ แต่หากจะนำไปใช้บรรจุอาหารที่มีน้ำมาก เช่น ขนมหวานที่เป็นน้ำ อาจต้องเคลือบด้วยสารที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ โดยจะมีการศึกษาและพัฒนาต่อไปให้โฟมแป้งมันสำปะหลังมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำเทียบเท่าโฟมทั่วไปโดยใช้วัสดุที่เหลือจากการเกษตร และพัฒนาให้ทนความร้อนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสามารถนำมาใช้ทดแทนโฟมทั่วไปได้หลายด้าน รวมทั้งศึกษาระยะเวลาการย่อยสลายในธรรมชาติที่แน่ชัด" นายณัติฐพล กล่าว
      
       ผู้วิจัยบอกด้วยว่าขณะนี้เริ่มมีภาคเอกชนสนใจให้ความสนใจในการทำวิจัยร่วมกันเพื่อผลิตโฟมจากแป้งมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นจะผลิตเพื่อใช้เป็นโฟมกันกระแทกสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก่อน แล้วจึงขยายไปสู่โฟมสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์อาหาร แม้ว่าขณะนี้โฟมจากแป้งมันสำปะหลังยังมีต้นทุนสูงกว่าโฟมธรรมดาค่อนข้างมาก แต่หากมีการผลิตในเชิงพาณิชย์น่าจะช่วยให้ต้นทุนถูกลงได้อีก

เครื่องตรวจไวรัสกุ้ง

เนคเทคร่วมมือไบโอเทคพัฒนาเครื่องตรวจไวรัสกุ้ง ใช้เทคนิควัดด้วยแสงให้ผลแม่นยำมากกว่ามองด้วยตา เหมาะแก่ใช้งานภาคสนาม และช่วยกำจัดปัญหาตั้งแต่คัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงกุ้ง ลดความสูญเสียแก่เกษตรกร นักวิจัยเผยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอกชน
      
       ไวรัสทอร่า (Taura Syndrome Virus: TSV) และไวรัสตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus: WSSV) เป็นปัญหาสำคัญต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม และโรคจากไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดการสูญเสียต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งมากที่สุด โดยสาเหตุการระบาดของไวรัสนั้นเกิดได้ทั้งจากการนำเข้าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่ติดเชื้อ หรือใช้ลูกกุ้งที่ติดเชื้อ และการมีพาหะอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง
      
       เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดในบ่อกุ้งจึงจำเป็นต้องตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่ในขั้นตอนคัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กุ้งก่อนปล่อยลงบ่อ หรือตรวจสอบในระยะเป็นลูกกุ้ง 15 วัน โดยเทคนิคแลมพ์ (LAMP: Loop-mediated isothermal amplification) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาพันธุกรรมของไวรัส แล้วระบุได้ว่ากุ้งติดเชื้อไวรัสหรือไม่จากการวัดความขุ่นของสารละลายหลังนำชิ้นส่วนของกุ้งไปตรวจสอบ
      
       ความขุ่นจากปฏิกิริยาของเทคนิคแลมพ์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวชี้วัดปริมาณการติดเชื้อไวรัส ยิ่งขุ่นมากการติดเชื้อยิ่งมาก หากแต่การประเมินความขุ่นด้วยตานั้นอาจคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือในพื้นที่เลี้ยงกุ้งที่มีแสงแดดจ้านั้นอาจทำให้ผู้ประเมินมองไม่เห็นความขุ่นที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาเครื่องตรวจวัดความขุ่น
      
       ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายหน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค เนคเทค และหัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดความขุ่นอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องตรวจวัดดังกล่าวมีหลอดแอลอีดีสีแดงซึ่งความขุ่นดูดซับได้ดีที่สุดส่องตัวอย่างและมีตัวรับสัญญาณสำหรับประเมินความขุ่นมาก-น้อย และภายในเครื่องยังมีตัวควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 63 องศาเซลเซียสเพื่อให้น้ำยาของชุดตรวจทำงานได้ดี ซึ่งการทดสอบด้วยเทคนิคแลมพ์นี้ต้องใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิอยู่แล้วแต่เครื่องดังกล่าวไม่สามารถวัดความขุ่นได้
      
       เมื่อเทียบกับเครื่องพีซีอาร์ (PCR) สำหรับใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมที่มีราคา 600,000-700,000 บาทแล้ว เครื่องตรวจวัดความขุ่นที่พัฒนาโดยเนคเทคนี้มีถูกกว่าหลายเท่าโดยมีราคาประมาณ 100,000 บาท ซึ่ง ดร.อดิสร ระบุว่าเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อใช้เครื่องตรวจนี้ และเครื่องตรวจวัดนี้ยังพร้อมถ่ายทอดแก่ภาคเอกชนเพื่อผลิตจำหน่ายต่อ โดยคาดว่าราคาเครื่องน่าจะถูกลงตามปริมาณที่ผลิตมากขึ้น
      
       ด้าน ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยจากไบโอเทคและหัวหน้าทีมวิจัยที่รับผิดชอบในส่วนของน้ำยาสำหรับทำปฏิกิริยาในเทคนิคแลมพ์ บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เทคนิคดังกล่าวเป้นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นดยชาวญี่ปุ่นซึ่งใช้เวลาในการทดสอบเร็วกว่าการทดสอบแบบพีซีอาร์ที่ใช้เวลาถึงครึ่งวัน โดยขั้นตอนของการเพิ่มดีเอ็นเอของไวรัสโรคกุ้งในปฏิกิริยาแลมพ์นั้นใช้เวลาในการทำปฏิกิริยาเพียง 30 นาที จากนั้นนำผลที่ได้ไปตรวจวัดหาการติดเชื้อ
      
       เดิมใช้วิธีตรวจด้วยแผ่นวุ้น (gel elcetrophoresis) ซึ่งใช้เวลาตรวจ 1 ชั่วโมงและต้องตรวจภายในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ต่อมาพัฒนาเป็นการตรวจวัดความขุ่นด้วยแผ่นสตริป (strip) ซึ่งใช้เวลา 30 นาที แต่วิธีนี้เมื่อคำนวณค่าใช้เป็นจำนวนปฏิกิริยาแล้วมีราคาสูงกว่าการตรวจด้วยเครื่องที่พัฒนาโดยเนคเทค เนื่องจากต้องใช้สารเคมีบางชนิดที่มีราคาแพง
      
       อย่างไรก็ตาม ดร.วรรณสิกาแนะนำว่าหากเกษตรกรมีการรวมกันเพื่อซื้อชุดตรวจแล้ว การใช้เครื่องตรวจที่พัฒนาโดยเนคเทคนั้นคุ้มค่ากว่า และหากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสในบ่อกุ้งแล้วการใช้แผ่นสตริปตรวจจะเหมาะสมกว่า แต่ทั้งสองวิธีนี้ให้ผลการทดสอบที่แม่นยำใกล้เคียงกัน

เวชสำอางข้าวหอมมะลิ

เอกชนไทยต่อยอด "เวชสำอางข้าวหอมมะลิ" คุณภาพเทียบแบรนด์นำเข้า

นักวิจัย มช. ทำสำเร็จ "เวชสำอางข้าวหอมมะลิไทย" ต้านริ้วรอยแห่งวัย ประสิทธิภาพเทียบใกล้แบรนด์ดังระดับโลก แต่ต้นทุนถูกกว่าหลายเท่า หวังเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยสู่สินค้าไฮเอนด์ ด้านเอกชนที่รับต่อยอดเชิงพาณิชย์เผยเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในเดือน พ.ย.นี้ มั่นใจแข่งขันได้ด้วยจุดเด่นของความเป็นข้าวหอมมะลิไทย
     


       ศ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย และ ศ.ดร.จีรเดช มโนสร้อย อาจารย์และนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกันพัฒนาเครื่องสำอางต่อต้านริ้วรอยและชะลอวัยจากสารสกัดจากข้าวกล้องหอมมะลิสำเร็จ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว โดยได้มาการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.53 ณ อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์
      
       "ข้าวมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่างๆมากมาย ขณะที่มูลค่าทางการตลาดของเครื่องสำอางในไทยเติบโตขึ้น 20% ทุกปี แต่วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีและอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากเราสามารถนำข้าวหอมมะลิไทยมาพัฒนาให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางได้ จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประสิทธิภาพสูงที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ข้าวหอมมะลิไทยด้วย" ศ.ดร.อรัญญา กล่าวต่อสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
      
       อีกทั้งในฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรไทย "มโนสร้อย 2" พบว่ามีตำรับยาสมุนไพรไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตล้านนาในอดีต มีข้าวเป็นองค์ประกอบในตำรับยาสมุนไพรที่มีข้อบ่งใช้เป็นยาอายุวัฒนะและบำรุงผิวพรรณ จึงได้นำเอาคุณค่าของข้าวและองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง
      
       นักวิจัยได้นำข้าวไทยสายพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 6 สายพันธุ์ มาศึกษาหาปริมาณสารสำคัญ โดยนำเมล็ดข้าวมาหมักด้วยกระบวนการทางชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะ จากนั้นแยกเอาเฉพาะน้ำหมักข้าวมาวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ พบว่าน้ำหมักจากข้าวกล้องหอมมะลิมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุด อาทิ แกมมา-ออไรซานอล, กรดไฟติก, กรดเฟอรูลิค, โทโคเฟอรอล, โทโคไตรอีนอล และกรดไขมันไม่อิ่มตัวอีกหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดปฏิกิริยออกซิเดชั่นอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมสภาพ
      
       เมื่อได้สารสำคัญมาแล้วจึงนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้านริ้วรอยในรูปแบบเจล ซีรั่ม และเอสเซนซ์ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีบรรจุสารสำคัญเข้าไว้ในถุงนีโอโซมขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร ซึ่งช่วยนำพาสารสำคัญผ่านเข้าสู่เซลล์ผิวหนังในชั้นเดอมิส และทำให้สารสำคัญเหล่านี้มีความคงตัวและคงประสิทธิภาพอยู่ได้นานในผลิตภัณฑ์เป็นเวลาถึง 2 ปีที่อุณหภูมิห้อง
      
       จากการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการพบว่าผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากข้าวกล้องหอมมะลิมีฤทธิ์ยั้บยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดสี ยับยั้งเอนไซม์เอ็มเอ็มพี-2 (MMP-2) ที่เกี่ยวข้องกับการสลายคอลลาเจนอันเป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอย นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวหนัง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองเมื่อทดสอบบนผิวกระต่าย
      
       ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพต้านริ้วรอยของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในอาสาสมัครจำนวน 30 คน ที่มีอายุระหว่าง 25-45 ปี โดยทาผลิตภัณฑ์บนผิวปลายแขนทุกวัน วันละครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยมีการวัดความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้นของผิว และการเปลี่ยนแปลงของสีผิวด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ และสัปดาห์ที่ 9 พบว่าให้ผลใกล้เคียงกันในอาสาสมัครทุกคน โดยผลิตภัณฑ์เอสเซนซ์มีประสิทธิภาพการลดริ้วรอยสูงสุดประมาณ 70% เทียบกับก่อนใช้และผิวหนังบริเวณที่ไม่ได้ทาผลิตภัณฑ์ ซึ่งใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ
      
       ทั้งนี้ นักวิจัยใช้เวลาศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากข้าวหอมมะลิไทยเป็นเวลา 18 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว โดยการนำสารสกัดจากข้าวหอมมะลิมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอยสามารถเพิ่มมูลค่าให้ข้าวหอมมะลิได้มากถึง 300 เท่า และล่าสุดได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอม ไทย-จีน จำกัด
      
       นางบังอร เกียรติธนากร ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอม ไทย-จีน จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่าตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นทุกปี แม้ในช่วงภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่วนข้าวหอมมะลิของไทยก็มีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จึงคิดว่าผลิตภัณฑ์ต่อต้านริ้วรอยจากข้าวหอมมะลิไทยน่าจะทำการตลาดได้ไม่ยากและสามารถแข่งขันกับเครื่องสำอางชั้นนำได้ โดยคาดว่าในเดือน พ.ย. นี้จะเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ขณะเดียวกันก็จะจำหน่ายสารสกัดในรูปวัตถุดิบให้แก่บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างๆด้วย

ขาเทียมจากกระดาษ



นักธุรกิจผู้พัฒนาข้อเข่าและขาเทียมเพื่อผู้พิการ คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมปี 53 ไปครอง เตรียมผลิตแจกผู้พิการให้ทดลองใช้งานจริง 100 ข้าง เพื่อเก็บข้อมูลขั้นสุดท้ายก่อนผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ด้านเอสซีจีเปเปอร์สร้างสรรค์กระดาษเพื่อพิมพ์หนังสือเรียนรับรางวัลเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ เผยกระดาษแบบใหม่ช่วยถนอมสายตา และมีน้ำหนักเบากว่าเดิม 20%
      
 
      นายพีท ริมชลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮลเซี่ยน เมทอล จำกัด ผู้พัฒนา "แฮลเซี่ยน" ข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุน (Halcyon 4 Joint Artificial Leg) ได้รับรางวัลชนะเลิศ "รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ประจำปี 2553" ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นนวัตกรรมการออกแบบและผลิตข้อเข่าและขาเทียมให้มีจุดหมุน 4 ตำแหน่ง เพื่อให้เหมือนกับข้อเข่าจริงของมนุษย์ เพื่อทดแทนข้อเข่าและขาเทียมแบบเดียวกันจากการนำเข้าที่มีราคาสูงมาก
      
       "ทุกวันนี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าข้อเข่าเทียม ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศทั้งหมด เราจึงพัฒนาข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงได้ทุกคน และเหมาะสำหรับการใช้งานในทุกสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใช้เวลาวิจัยและพัฒนามานานกว่า 2 ปี โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นที่ปรึกษา" นายพีท กล่าว
      
       ทั้งนี้ ข้อเข่าเทียมที่เขาพัฒนาขึ้นนั้นมีทำจากสแตนเลสและหุ้มภายนอกด้วยพาสติก มีความแข็งแรงทนทาน มีระบบสปริงและระบบล็อคอัตโนมัติเพื่อช่วยให้การเดินเหมือนคนปกติมากที่สุด โดยสามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 80 กิโลกรัม
      
       นายพีทกล่าวต่อว่า ขณะนี้ข้อเข่าและขาเทียมแบบสี่จุดหมุนผ่านการทดสอบทางวิศวกรรมตามมาตรฐานสากล ISO 10328 และทดสอบการใช้งานเบื้องต้นโดยผู้พิการภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว
      
       ขั้นต่อไปจะผลิตข้อเข่าและขาเทียมจำนวน 100 ชุด ให้กับศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูทางการแพทย์สำหรับนำไปทดสอบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของผู้พิการจำนวน 100 ราย ในพื้นที่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงแล้วนำมีพัฒนาหรือปรับปรุงในขั้นสุดท้ายก่อนผลิตในเชิงพาณิชย์เร็วๆนี้ และจะพัฒนาต่อไปให้ขาเทียมมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งสามารถนั่งขัดสมาธิได้เหมือนคนปกติทั่วไป
      
       "บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจเครื่องตัดชิ้นส่วนโลหะแล้วจึงอยากทำอะไรที่เป็นการคืนกำไรให้สังคมบ้าง ซึ่งก็ได้เลือกพัฒนาข้อเข่าและขาเทียมขึ้นเนื่องจากมีความต้องการสูง เฉพาะที่ศูนย์สิรินธรฯ มีความต้องการขาเทียมประมาณ 3,000 ข้าง และยังมีมูลนิธิขาเทียมที่มีความต้องการอีกจำนวนมาก ซึ่งการได้รับรางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานพัฒนาขาเทียมเพื่อผู้พิการคนไทยต่อไป" นายพีทกล่าวต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน
      
       ส่วนรางวัลชนะเลิศในด้านเศรษฐกิจมอบให้แก่ผลงานนวัตกรรม "เท็กซ์โปร" (TextPro) กระดาษเพื่องานพิมพ์หนังสือแบบเรียน ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์
      
       ดร.ธนานันท์ อรรคเดชดำรง ผอ.ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ เอสซีจี เปเปอร์ บอกว่าได้พัฒนากระดาษเท็กซ์โปรขึ้นตามความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นโรงพิมพ์ต่างๆ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและฟอกเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษ "ครีมมีพัลพ์" (Creamy Pulp) ที่มีลักษณะพิเศษ มีความนุ่มและฟูมากกว่ากระดาษทั่วไป ทำให้มีน้ำหนักเบาลงประมาณ 20% มีผิวเรียบเนียน แข็งแรง ทำให้ได้ภาพคมชัดและลดปริมาณฝุ่นในขณะพิมพ์ ทั้งยังช่วยถนอมสายตาผู้อ่าน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพิมพ์เป็นแบบเรียน โดยขณะนี้ได้รับการยอมรับจากคุรุสภาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะมีความต้องการกระดาษลักษณะเพิ่มมากขึ้น
      
       ส่วนผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 มีดังนี้ ด้านสังคม ได้แก่ นมข้าวอะมิโนสำหรับทารกที่แพ้นมทุกชนิด และ มิตรผลโมเดล นวัตกรรมการจัดการไร่อ้อยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เบเยอร์คูล ยูวี ชิลด์, ระบบการผลิตกล้วยไม้ส่งออกทางเรือในห้องมืดปรับอากาศ และพลาสติกคอมพาวด์สำหรับการผลิตสายไฟเพื่อความปลอดภัย
      
       ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดงานแถลงข่าวการประกาศผลและพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2553 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2553 ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ โดยมี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล